FAQ

ควรเลือกใช้เครื่องชั่งอย่างไร?
ตอบ คุณสมบัติทางมาตรวิทยาของเครื่องมือวัด ถ้าจะนำมาใช้ตัดสินค่าสิ่งที่ถูกวัดใดๆ เครื่องมือวัดจะต้องมีคุณสมบัติทางมาตรวิทยาสูงกว่าสิ่งที่ถูกวัดนั้น (หรือจะใช้เกณฑ์ดีกว่า 3 ถึง 10 เท่าก็ได้)
เช่น
          ในงานวิเคราะห์กำหนดให้ชั่งน้ำหนักสารเคมี 150g ผิดพลาดได้ไม่เกิน 0.01g เครื่องชั่งที่ใช้จะต้องมีความสามารถเพียงพอตามนั้น เราอาจเลือกใช้เครื่องชั่งที่มีความละเอียดถึง 0.001g (3 ตำแหน่ง) และ ควรเลือกเครื่องชั่งที่มีพิกัดมากกว่า 150g เช่น พิกัด 200g จึงจะเหมาะสมกับการใช้งาน
คาบเวลาสอบเทียบซ้ำที่เหมาะสมคือเท่าไหร่?
ตอบ  สำหรับคาบเวลานี้ถ้าเราไม่มีข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นแนะนำให้เริ่มต้นที่ 1 ปี เมื่อเรามีข้อมูลเพียงพอและพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุมเครื่องมือให้อยู่ในเกณฑ์การใช้งานที่กำหนดไว้ได้ เราจะเพิ่มเวลาให้นานออกไปอีก หรือถ้าจำเป็นจะต้องลดเวลาให้สั้นลงก็สามารถทำได้ตามความเหมาะสม
สอบเทียบแล้วต้องทำอะไรอีกหรือเปล่า?
ตอบ ต้องทำการตรวจสอบเครื่องมือระหว่างคาบเวลาสอบเทียบอีก เพื่อเพิ่มความมั่นใจระหว่างใช้งานเครื่อง โดยจะทำการตรวจสอบอย่างง่ายด้วยตัวเอง เช่น ใช้ตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน (น้ำหนักใกล้เคียงน้ำหนักที่ใช้งาน) ตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักทุกเดือน เพื่อพิจารณาถึงความถูกต้องหรือการเลื่อนค่า (Drift) ของเครื่อง
ควรกำหนดเกณฑ์ยอมรับอย่างไร
ตอบ อาจกำหนดได้จาก 3 วิธีดังนี้ 
 
1. อ้างอิง MPE (Maximum Permissible Error) จากมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น JIS, ISO, BS หรือ AS Standard

2. อ้างอิงค่า Accuracy ที่ได้มาจากผู้ผลิตเครื่องมือนั้นๆ ซึ่งในบางเครื่องมือจะมีบอกไว้ หรือหากไม่มีก็ใช้ค่าละเอียดของเครื่องมือนั้น เป็นวิธีที่นิยมเนื่องจากกำหนดง่าย แต่ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากเกณฑ์ที่กำหนดโดยวิธีนี้จะแคบมากทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนเครื่องมือวัด เมื่อผลการสอบเทียบออกนอกเกณฑ์ โดยไม่จำเป็น
 
3. กำหนดเกณฑ์เอง อาจกำหนดจากความคลาดเคลื่อนของชิ้นงานที่ลูกค้ากำหนด หรือความคลาดเคลื่อนที่จะทำให้การผลิตผิดพลาด โดยต้องใช้หลักของ ISO 10012 โดยการใช้กฎต้องดีกว่า 3 - 10 เท่า ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ากำหนด Spec งานมา
1000g+/- 3g
3/3   = 1
3/10 = 0.3
ดังนั้นควรกำหนดเกณฑ์ยอมรับให้อยู่ในช่วง 0.3g ถึง 1g
โดยทั่วไปนิยมตั้งเกณฑ์ที่ 4 เท่า คือ ¾ = 0.75 g
เมื่อสอบเทียบแล้วตรวจสอบผลการสอบเทียบอย่างไร?
ตอบ เมื่อทำการสอบเทียบเครื่องมือแล้วเราต้องนำผลจากใบรับรองการสอบเทียบมาพิจารณาว่าเครื่องมือนั้นยังคงความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น เมื่อพิจารณาใบรับรองการสอบเทียบเครื่องชั่งพบว่า ที่ 150g เครื่องมีค่าความผิดพลาด 0.002g และมีความไม่แน่นอนจากการวัดอีก 0.003g ผลรวมความผิดพลาดและความไม่แน่นอนของการวัด (เท่ากับ 0.005g) ต้องไม่มากกว่าเกณฑ์ยอมรับที่กำหนดไว้จึงจะใช้งานเครื่องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้ หากไม่แล้วจะต้องหยุดการใช้เครื่องมือนั้นเพื่อดำเนินการใดๆ ให้มั่นใจก่อนนำกลับมาใช้ตามระบบคุณภาพ

 
 
Copyrights © 2016 Digitalcalibration. All rights reserved.